ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : หลวงพ่อแก้ว(มณี) วัดมฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี



(N)
ประวัติหลวงพ่อแก้ว(มณี) วัดมฤคทายวัน ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
พระเกจิอาจารย์ผู้สืบทอดสรรพวิชาสายหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี และสายหลวงปู่นาค วัดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

"พระครูวิทิตวัชโรทัย" หรือหลวงพ่อแก้ว(มณี) เจ้าอาวาสวัดมฤคทายวัน สถานะเดิมชื่อ มณี นามสกุล สุขทวี เกิดที่หมู่ 1 บ้านตำหรุ ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ท่านเกิดวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ตรงกับ แรม 2 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา โยมบิดาชื่อ จรัส โยมมารดาชื่อ นวม มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน อาชีพทำไร่ การศึกษา ปวส. ฝ่ายกิจการคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นักธรรมชั้นเอก พระครูสัญญาบัตรชั้นโท

หลวงพ่อแก้ว(มณี) วัดมฤคทายวัน ได้สืบทอดสรรพวิชาแห่งสำนัก "วัดโตนดหลวง" โดยตรงจาก หลวงพ่อจันทร์ วัดมฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ผู้เป็นพระอุปปัชฌาย์ (อุปสมบทครั้งแรก) และหลวงพ่อนิ่ม วัดเขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ผู้เป็นพ่อบุญธรรม) ซึ่งท่านพระอาจารย์ทั้งสองเป็นศิษย์เอกโดยตรงของหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

หลวงพ่อแก้ว(มณี) ในวัยเด็กท่านสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง โยมพ่อโยมแม่จึงยกให้เป็นลูกบุญธรรมของหลวงพ่อนิ่ม วัดเขาน้อย เพราะบ้านหลวงพ่อท่าน อยู่ติดกับวัดเขาน้อย หลวงพ่อท่านได้วิ่งเล่น และได้ถูกเลี้ยงดูอยู่ภายในวัดเขาน้อย ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มฉกรรจ์ แล้วเมื่อหลวงพ่อนิ่มได้ไปสร้างวัดเขาน้อยบน (ที่บนเขา) หลวงพ่อท่านยังช่วยหลวงพ่อนิ่ม ข้นอิฐข้นทราย ขึ้นไปสร้างวัดเขาน้อย (บนเขา) กับญาติโยมคนในหมู่บ้านเขาน้อย

หลวงพ่อแก้ว(มณี) ได้อุปสมบทที่วัดมฤคทายวัน เมื่อปี2512 โดยหลวงพ่อจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้อยู่รับใช้หลวงพ่อจันทร์ได้ไม่นาน ก็ขอลาสิกขา ไปใช้ชีวิตเป็นนักเลงหัวไม้อยู่พักใหญ่ ที่บ้านป่าละอู โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ รุ่น2 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในปี2529 โยมพ่อของหลวงพ่อท่านได้เสียชีวิตลง หลวงพ่อท่านจึงได้อุปสมบทอีกครั้ง เพื่อทดแทนคุณให้โยมพ่อท่าน และได้กลับมาจำพรรษาที่วัดมฤคทายวันจนถีงปัจจุบัน

หลวงพ่อแก้ว(มณี) ผู้สืบทอดวิชาการทำตะกรุดไม้รวกอันโด่งดัง ของหลวงพ่อจันทร์ วัดมฤคทายวัน การลงจารอัขระเลขยันต์ การลงพระคาถาต่างๆ เมตตาแคล้วคลาด มหาอุตม์คงกะพันชาตรี วิชาเสกครั่งนะปัดตลอด หลวงพ่อท่านยังได้พัฒนาศาสนะสถานต่างๆ ภายในวัดมฤคทายวัน รวมทั้งเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

วัตถุมงคลต่างๆของหลวงพ่อแก้ว(มณี) พุทธคุณครอบจักรวาล ลูกศิษย์ลูกหาได้นำไปใช้แล้วเกิดประสบการณ์ต่างๆมากมาย "ด้านเมตตามหานิยมมหาเสน่ห์ เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง มหาอุตม์คงกระพันชาตรี มหาโภคทรัพย์ การงานเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปลอดภัย"

"วัตถุมงคลยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อแก้ว(มณี)" เช่น
-เหรียญหลวงพ่อทองศุข "โค๊ดนะ" ปี2537 (ออกปี2539 ปลุกเสก3ปี)
-เหรียญหลวงพ่อทองศุข "โค๊ดนะ,โค๊ดอุ" รุ่นบูรณะศาลา ปี2558
-ตะกรุดไม้รวกบรรจุตะกรุดโทนอุดครั่ง หลวงพ่อแก้ว(มณี) รุ่นแรก ปี2548 (สูตรต้นตำรับหลวงพ่อจันทร์-หลวงพ่อนิ่ม)
-ตะกรุดโทนพอกครั่งรุ่นแรก ปี2555
-ลูกอม-ลูกสะกดพอกครั่งรุ่นแรก ปี2555
-เหรียญพระพุทธชินราชรุ่นแรก ปี2555
-เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อแก้ว(มณี) ปี2555
-เหรียญรุ่น2 หลวงพ่อแก้ว(มณี) ปี2556 (เหรียญตามรอยปฐมบรมครูหลวงพ่อทองศุข)
-เหรียญหลวงพ่อแก้ว(มณี) รุ่นโภคทรัพย์ ปี2556
-เหรียญหลวงพ่อจันทร์ย้อนยุค ปี2555
-ล๊อกเก็ตหลวงพ่อจันทร์
-และพระผงสมเด็จวัดมฤคทายวัน หลังยันต์ตรีนิสิงเห พิมพ์ต่างๆ
..........................................

***พระผงสมเด็จมฤคทายวัน (สมเด็จวังมฤคทายวัน) เป็นวิชาที่หลวงพ่อจันทร์ได้สืบทอดมาจากหลวงปู่นาค วัดหัวหิน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่6 มีดำริให้จัดสร้าง พระผงสมเด็จมฤคทายวัน เพื่อแจกแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ ในการสร้างวังมฤคทายวันในสมัยนั้น***

***ในกาลต่อมาหลวงพ่อจันทร์ได้นำพระสมเด็จวัดมฤคทายวัน ,เหรียญหลวงพ่อทองศุข ปี2498 (ออกวัดมฤคทายวัน) มาแจกให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมสมทบทุนสร้างวัดมฤคทายวัน ในปี2499 เพื่อร่วมฉลอง 25พระพุทธศตวรรษ ปี2500 ซึ่งวัตถุมงคลรุ่นต่างๆของวัดมฤคทายวัน ปัจจุบันเป็นที่นิยม และมีต้องการของลูกศิษย์ของท่านเป็นอย่างมาก***
..........................................

***ครั่งพุทราที่โด่งดังของสายหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี***

***การจัดชุด 9 เครื่องรางของขลังอันทรงคุณค่าที่เลื่องลือมาแต่โบราณที่สุดในสยามประเทศ ถึงกับมีคำท่องคล้องจองที่ว่า***
#หมากดีที่วัดหนัง
#ถ้าเบี้ยขลังวัดนายโรง
#ไม้ครูอยู่คู่วัดอินทร์
#ส่วนมีดบินวัดหนองโพธิ์
#พิสมรวัดพวงมาลัย
#ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง
#ราหูคู่วัดศีรษะทอง
#แหวนอักขระวัดหนองบัว
#ลูกแร่ที่วัดบางไผ่
...ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน เก้าสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาแผ่วพาน...

โดยคุณ ณัฏฐ์5 (2.9K)  [ส. 30 ก.ย. 2566 - 16:03 น.]



โดยคุณ kwwee (2.4K)  [ส. 30 ก.ย. 2566 - 21:31 น.] #4020907 (1/1)
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน พระมงคลแห่งเพชรบุรี
วัดมฤคทายวัน อยู่ติดกับ ‘พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน’ ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน และเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานมายังพระราชนิเวศน์ฯ ก็มักทรงสดับพระธรรมเทศนาและสนทนาธรรมกับพระภิกษุผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม รวมถึง หลวงปู่นาค ปุญญนาโค เจ้าอาวาสวัดมฤคทายวันในสมัยนั้น
หลวงปู่นาค เป็นสมณสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรงดงามและมีความเชี่ยวชาญในวิทยาอาคมเข้มขลัง เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียง วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่นิยมสะสมและปรากฏพุทธาคมประจักษ์เป็นที่เลื่องลือ รวมทั้ง ‘พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน’ แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่ยอมสร้างคือ ‘รูปเหมือนตัวเอง’ โดยให้เหตุผลว่า “ท่านไม่เก่ง จะไปสร้างรูปให้เขากราบไหว้ได้อย่างไร ต้องสร้างเป็นพระพุทธเจ้าจะเหมาะกว่า” สำหรับ “เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่นาค” ที่นิยมเล่นหากันอยู่นั้น สร้างขึ้นหลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน สร้างในราวปี พ.ศ.2462 โดย ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่นาคเป็นเจ้าพิธีในการสร้าง เพื่อพระราชทานให้กับข้าราชบริพารและชาวบ้าน ในวโรกาสเสด็จฯ ประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤทายวัน และทรงกำหนดให้ ‘วัดมฤคทายวัน’ เป็นเขตอภัยทาน เพื่อถวายเป็นพุทธาบูชา ในการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพราณสี ประเทศอินเดีย เมื่อ 2,580 กว่าปีล่วงมาแล้ว เนื่องจากคำว่า “มฤค” นั้น มีความหมายว่า เนื้อ, ทราย ซึ่งมีอยู่ชุกชุมในสถานที่แห่งนี้ คล้ายคลึงกับสถานที่ในพุทธประวัติ
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน เป็นพระเนื้อผงทรงสี่เหลี่ยม คล้าย ‘พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์’ ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เนื้อหามวลสารประกอบด้วยปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก และที่สำคัญคือ “ผงตรีนิสิงเห” อันเป็นผงวิเศษหลักในการสร้างพระสมเด็จมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) จนถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีอานุภาพนานัปการ ทั้ง เมตตามหานิยม แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี จากนั้นมาผสมรวมกับมวลสารมงคลอื่นๆ แล้วใช้น้ำมันตังอิ๊วกับน้ำมันลินสีดเป็นตัวประสาน เนื้อมวลสารที่เป็นปูนเปลือกหอยก็จะอมน้ำมัน ทำให้เนื้อขององค์พระแลดูชุ่มและนุ่ม ส่วนผงตรีนิสิงเหนั้นไม่อมน้ำมันจึงปรากฏเป็นผงสีเหลืองนวลแทรกอยู่ในเนื้อขององค์พระสวยงามมาก โบราณจารย์บางท่านมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระผงน้ำมัน”
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน มีการจัดสร้างด้วยกันกว่า 20 พิมพ์ อาทิ พิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์, พิมพ์สมเด็จ 3 ชั้น, 7 ชั้น, พิมพ์นางกวัก และ พิมพ์ชินราช เป็นต้น ซึ่งทุกพิมพ์จะมีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งเป็นหนึ่งในการพิจารณาพระแท้ คือ ลักษณะเป็นกรอบกระจกและตัดขอบสำเร็จในพิมพ์ เนื่องจากเป็นการสร้างแม่พิมพ์แบบมาตรฐานด้วยฝีมือช่างหลวง นอกจากนี้ พิธีพุทธาภิเษกก็จัดอย่างยิ่งใหญ่สมบูรณ์แบบทั้ง พิธีหลวง พิธีพราหมณ์ รวมถึงพระเกจิคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก โดยเฉพาะ ‘หลวงปู่นาค’ ได้ปลุกเสกด้วยตนเองอีกรอบหนึ่ง ด้วยพุทธลักษณะที่งดงามและพุทธคุณเป็นเลิศ ทำให้พระสมเด็จวัดมฤคทายวันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “พิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์” ที่เข้าตากรรมการ จึงกลายเป็น ‘พิมพ์นิยม’ ที่แสวงหาและมีสนนราคาสูงสุด
พระสมเด็จวัดมฤคทายวัน พิมพ์ปรกโพธิ์ มีพุทธลักษณะแม่พิมพ์ด้านหน้า องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิอยู่เหนืออาสนะ ด้านหลังเป็นโพธิ์บัลลังก์ ภายในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลัง เป็น “ยันต์ตรีนิสิงเห” นับเป็นพระพิมพ์ที่มีความงดงามและเป็นมิ่งมงคลของจังหวัดจริงๆ ครับผม

โดย ราม วัชรประดิษฐ์
www.arjanram.com




***ขอเรียนถามคุณ ณัฏฐ์5 หรือท่านผู้รู้ท่านอื่นด้วยครับ

จากข้อความที่ด้านบนนี้ ดูเหมือนว่า "วัดมฤคทายวัน" มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย ร.6

แต่จากข้อความที่คุณ ณัฏฐ์5 เอามาลง วัดมฤคทายวัน พึ่งจะมาสร้างเมื่อปี 2500 นี้เอง

ผมก็เลยอยากทราบว่า ที่จริงแล้ว สมัย ร.6 วัดมฤคทายวันมีอยู่หรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ขอขอบพระคุณมาล่วงหน้าสำหรับคำตอบครับ

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM